วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของจริยธรรมทางธุรกิจ

จริยธรรมทางธุรกิจ : การพัฒนาคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของมนุษย์ในสังคม 
 
          การบริหารธุรกิจอย่างมีจริยธรรมมีองค์ประกอบหรือเกณฑ์ชี้วัดอย่างไรเป็นประเด็นที่ต้องสร้างให้ชัดเจนและเป็นหลักสากลให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผู้บริหารกับจริยธรรมทางธุรกิจเป็นเรื่องของการเตือนสติในการประกอบอาชีพของตนว่า สิ่งใดพึงกระทำสิ่งใดพึงละเว้น แม้ข้อกำหนดทางจริยธรรมจะเป็นปกติวิสัยที่องค์การทั่วไปต้องสร้าง

          ความตื่นตัวในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจของประเทศไทยเป็นไปค่อนข้างช้า จนเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 ธุรกิจต่างล้มเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการบริหารงานที่ขาดจริยธรรมและความโปร่งใส จากนั้นจึงได้มีการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะต้องการกลไกที่จะป้องกันธุรกิจหรือองค์การที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน แต่ยังเป็นการจัดระบบการบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการประกอบการที่ดีของประเทศทางตะวันตกที่ประเทศไทยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตามกระแสของโลกาภิวัตน์

          องค์การธุรกิจในยุคใหม่ต้องบริหารงานโดยคำนึงถึงจริยธรรม รับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อพนักงานด้วยการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม และรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังต้องดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใสพร้อมจะให้สาธารณชนตรวจสอบเสมอ

          จริยธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทุกด้านขององค์การ การทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมและกระแสเศรษฐกิจใหม่ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมจะสร้างผลกระทบในทางลบได้อย่างรุนแรงและกว้างขวางมากกว่ายุคใด ๆ 
 
          ในปัจจุบันมีผู้กล่าวถึงความสำคัญของ “จริยธรรม” กันมากขึ้น เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความบกพร่อง และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมหรือจริยธรรมของผู้คนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งเน้นการสร้างสรรค์ทางวัตถุ และการแสวงหาความสุขสบายให้แก่ชีวิตด้วย การพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก และรูปแบบของความบันเทิงในลักษณะต่าง ๆ ได้แพร่กระจายเข้าสู่สังคมเมืองของไทยอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว อิทธิพลของการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้คนในชนบทหลั่งไหลกันอพยพเข้าสู่เมืองหลวงอย่างมากมายและต่อเนื่อง จิตใจของผู้คนที่ยึดเอาประโยชน์ของตนเป็นหลักไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทยลดน้อยลงไปทุกทีและจะเพิ่มพูนปัญหาให้แก่สังคมมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ความหมายของจริยธรรม

          จริยธรรม (ethics) สามารถใช้คำไทยได้หลายคำนอกเหนือจากคำว่าจริยธรรม เช่น หลักจรรยา หรือ จรรยาบรรณ หรือ ธรรมะ หรือ คุณธรรม ซึ่งมีความหมายว่า ข้อพึงปฏิบัติ

          ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  คำว่า ธรรม หมายถึงความดี ส่วนคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ดังนั้นความหมายของ จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

มีนักปราชญ์ของวงการศึกษาไทยหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าจริยธรรม (วริยา ชินวรรณโณ 2541) ไว้ดังนี้

          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายว่า จริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา คือ มรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา  พรหมจารีหรือผู้ประพฤติธรรม หรือ ผู้มีจริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา คือ ผู้ดำเนินชีวิตตามมรรค หรือปฏิบัติตาม มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการครองชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ของมนุษย์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย คือ ความดับทุกข์)

          กระมล ทองธรรมชาติ อธิบายว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรม หรือหลักความประพฤติที่ควรแก่การยึดถือและปฏิบัติตาม ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อธิบายว่า จริยธรรม คือ ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม

          ความคิดในเชิงจริยธรรมมีกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ในยุคโบราณหลายต่อหลายท่านต่างกล่าวถึงและพยายามสั่งสอนให้ผู้คนประพฤติปฏิบัติกันในแนวทางที่ถูกต้องชอบธรรม กระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและสังคม จนถึงปัจจุบันแนวความคิดในเรื่องจริยธรรมได้พัฒนามาเป็นลำดับ มีผู้กล่าวถึง "จริยธรรม" ในความหมายที่แตกต่าง ๆ กันหลายลักษณะ เช่น

          ดวงเดือน พันธุมนาวิน กล่าวว่า จริยธรรม เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวาง หมายถึงลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์ ลักษณะและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมจะมีคุณสมบัติประเภทใดประเภทหนึ่ง ใน 2 ประเภท คือ

          1. เป็นลักษณะที่สังคมต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกของสังคมนั้น เป็นพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบให้การสนับสนุน และผู้กระทำส่วนมากเกิดความพอใจว่า กระทำนั้นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม
          2. เป็นลักษณะที่สังคมไม่ต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกของสังคม เป็นการกระทำที่สังคมลงโทษ หรือ พยายามกำจัด และผู้กระทำพฤติกรรมนั้นส่วนมารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่สมความ ฉะนั้นผู้ที่มีจริยธรรมสูงคือผู้ที่มีลักษณะและพฤติกรรมประเภทแรกมากและประภทหลังน้อย ลักษณะของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมแบ่งออกได้เป็น ความรู้เชิงจริยธรรม ทัศนคติเชิงจริยธรรม เหตุผลเชิงจริยธรรมและพฤติกรรมเชิงจริยธรรม (ดวงเดือน พันธุมนาวิน 2520)

          สุมน  อมรวิวัฒน์ สรุปความหมายของจริยธรรมไว้ว่า จริยธรรม คือ แบบแผนของความประพฤติที่ยึดหลักของศีลธรรม ลักษณะที่แตกต่างระหว่าง “ศีลธรรม” และ “จริยธรรม” ก็คือศีลธรรมเป็นหลักการของคุณงามความดีที่มนุษย์ยึดถือปฏิบัติ อิงหลักศาสนาและมีหลักเป็นสากล ส่วนจริยธรรมนั้นแม้จะมีความหมายบางส่วนคล้ายคลึงกับคำว่าศีลธรรม แต่มักเป็นคำที่ใช้ในสาขาวิชาพฤติกรรมศาสตร์ เน้นลักษณะของความประพฤติที่สังคมนิยมชมชอบว่าถูกต้องเหมาะสม (สุมน อมรวิวัฒน์ 2530)

สำหรับนักคิดในประเทศตะวันตก ก็ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับจริยธรรมและพฤติกรรมทางจริยธรรมไว้ (ชัยพร วิชชาวุธ 2530) ดังนี้

          พีอาเจต์ (Piaget 1960) กล่าวว่า จริยธรรม คือ องค์ประกอบของกฏเกณฑ์ที่บุคคลยอมรับว่าถูกต้องดีงามควรประพฤติปฏิบัติตนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม

          บราวน์ (Brown 1965) ได้อธิบายว่า จริยธรรมหมายถึงระบบของกฏเกณฑ์ใช้ในการวิเคราะห์ความประพฤติที่ผิดหรือถูกของบุคคล จริยธรรมมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาจากประสบการณ์ของบุคคล โดยจริยธรรมประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ ความรู้ (knowledge) ความประพฤติ (conduct) และ ความรู้สึก (felling)

          โดลเบอร์ (Kohlberg 1969) ให้การอธิบายว่า จริยธรรมเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นกฎเกณฑ์และมาตรฐานพฤติกรรมในสังคม ซึ่งบุคคลจะพัฒนาขึ้นจนมีจริยธรรมของตนเอง โดยอาศัยกฎเกณฑ์จากสังคมเป็นสิ่งตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด

          ฮอฟแมน (Hoffman 1979) ได้จำแนกองค์ประกอบของจริยธรรมไว้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่บราวน์ได้กระทำ กล่าวคือ เขาเชื่อว่า จริยธรรมเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใน (internalization) ขององค์ประกอบจริยธรรม 3 ประการ ที่เป็นอิสระจากกัน คือความคิดทางจริยธรรม (moral thought) ความรู้สึกทางจริยธรรม (moral felling) และพฤติกรรมจริยธรรม (moral behavior)

          โดยการประมวลจากความหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขอสรุปนิยาม ความหมายของ “ จริยธรรม ” ไว้คือ จริยธรรม หมายถึง หลักความประพฤติ แนวทาง แบบแผน หรือหลักการที่ว่าด้วยความดีงามซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักการของศาสนา หรือสิ่งที่คนในสังคมยอมรับว่าเป็นความดีความถูกต้อง เป็นต้นว่า หลักของศีล สมาธิ หลักของการยึดประโยชน์ส่วนรวม หรือหลักของการพัฒนาประเทศ ฯลฯ เพื่อความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การปลูกฝังจริยธรรม จึงเปรียบเสมือนการพัฒนาคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของมนุษย์ในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น